6 เหตุผลที่ควรติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV)

6 เหตุผลที่ควรติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV)

ทุกวันนี้เราสามารถเห็นกล้องโทรทัศน์วงจรปิดได้อย่างง่ายดายในหลากหลายพื้นที่ทั่วโลก ดวงตาอิเล็กทรอนิกส์นี้มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Closed Circuit Television หรือ CCTV ซึ่งในภาษาไทยยังมีชื่อเรียกอันเป็นที่เข้าใจได้ อาทิ กล้องวงจรปิด, กล้อง CCTV, ทีวีวงจรปิด หรือแม้เรียกกันสั้นๆเพียง กล้องวงจรฯ

 

ในยุคสมัยที่การรักษาความปลอดภัยเบื้องต้นควรดำเนินการอย่างจริงจัง อันเนื่องจากอาชญากรรมที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก หรือแม้แต่ความสบายใจในบุคคลหรือทรัพย์สิน กล้องวงจรปิดไม่ได้เป็นเพียงความต้องการเชิงพาณิชย์หรือธุรกิจ ที่ต้องมีความปลอดภัย แต่บ้านเรือน ที่อยู่อาศัย รวมถึงสถานที่ต่างๆ ก็ต้องการการปกป้องจากตาวิเศษนี้เช่นกัน แม้กล้องวงจรปิดไม่สามารถยับยั้งเหตุร้ายต่างๆได้ด้วยตัวเอง แต่เราก็ได้รับทราบอยู่เนืองๆว่า หนึ่งในพยานสำคัญก็คือ ภาพที่กล้องวงจรปิดบันทึกไว้ นั่นเอง

 

หากยังลังเลในการปกป้องบุคคลในปกครองหรือทรัพย์สินที่ครอบครอง ลองพิจารณา 6 เหตุผล ดังต่อไปนี้

  1. ป้องกันอาชญากรรม

ไม่ว่าในพื้นที่นั้นๆเคยมีประวัติอาชญากรรมหรือไม่ กล้องวงจรปิดก็สามารถสร้างความสบายใจได้ระดับหนึ่ง แม้ตัวของ CCTV เองไม่มีคุณสมบัติหยุดยั้งเหตุการณ์ใดๆ แต่ด้วยรูปแบบการทำงานเสมือนดวงตาที่เฝ้ามอง ก็อาจสร้างความยำเกรงแก่ผู้ไม่หวังดีให้คิดยับยั้งชั่งใจ ไม่ก่อเหตุใดๆในรัศมีที่กล้องวงจรปิดสามารถบันทึกภาพได้ อีกทั้งปัจจุบันพื้นที่ติดต่อกันอาจมี CCTV ติดตั้งหลายจุดอย่างต่อเนื่องจากหลายผู้ใช้งาน จึงอาจทำให้อาชญากรรมไม่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่

 

  1. ช่วยติดตามพฤติกรรม

อาชญากรรมในลักษณะการโจรกรรม, การทุจริตต่อหน้าที่ หรือรูปแบบอื่น อาจเกิดขึ้นได้ด้วยหลายเหตุผล การติดตั้งกล้องวงจรปิดในสถานที่ทำงาน หรือแม้แต่ในบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย ไม่ใช่การเฝ้ามองเพื่อจับผิด แต่เป็นการป้องปรามอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ แน่นอนว่าเจ้าดวงตาที่ไม่ยอมหลับนี้ บันทึกพฤติกรรมหรือเหตุการณ์ต่างๆไว้ทั้งด้านบวกและลบ ดังนั้นการติดตั้ง CCTV ในสถานที่ใดๆ นอกจากเป็นพยานเอกสำหรับผู้คิดร้ายแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนผู้คิดดี/ทำดี ได้เช่นกัน

 

  1. ใช้เป็นหลักฐาน

หลายครั้งที่เราได้ยินข่าวอาชญากรรม การจราจร หรือเหตุการณ์อื่น ทั้งในและต่างประเทศ สิ่งหนึ่งซึ่งมักเป็นพระเอก นั่นคือภาพเหตุการณ์ต่างๆที่กล้องวงจรปิดบันทึกไว้ แม้ผู้ไม่หวังดีสามารถทำภารกิจร้ายได้สำเร็จ แต่ CCTV มักเป็นผู้บอกเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้เสมอ เป็นหลักฐานชัดเจนเพื่อระบุตัวหรือติดตามผู้กระทำผิด และปัจจุบันภาพจากกล้องวงจรปิดเป็นหลักฐานที่ยอมรับในกระบวนการยุติธรรมทั่วโลก

 

  1. ช่วยบังคับใช้กฎหมาย

ต่อเนื่องจากข้อ 3 การใช้ภาพจากกล้องวงปิดเป็นหลักฐานคลี่คลายคดี ภาพจาก CCTV ยังสามารถเผยแพร่สู่สาธารณะ ทั้งด้วยการปิดประกาศ การนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ อาทิ สิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ รวมถึงโลกออนไลน์ เพื่อให้บุคคลทั่วไปได้ผ่านสายตา ซึ่งอาจนำไปสู่การแจ้งเบาะแสแก่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องในการบังคับใช้กฎหมายได้อีกทางหนึ่งด้วย

 

  1. ช่วยบอกเล่าความจริง

หลายเหตุการณ์ที่เป็นข่าวผ่านหู เบื้องต้นฝ่ายหนึ่งอาจบอกเล่าเหตุการณ์อันเป็นประโยชน์แก่ตนเอง ซึ่งอาจไม่เป็นจริงตามอ้างก็ได้ หากอีกฝ่ายไม่สามารถหักล้างคำบอกเล่านั้นได้ เหตุการณ์อาจกลับตาลปัตรจากขาวเป็นดำหรือเทาหม่น หลายครั้งหลายหนที่กล้องวงจรปิดสามารถพลิกลิ้นของผู้พูดบิดเบือนได้ ทั้งเหตุการณ์บนท้องถนนและเหตุขัดแย้งใดๆ ที่ต่างก็พูดเอาประโยชน์แก่ตน

 

  1. เทคโนโลยีกล้องวงจรปิด

ที่มาของคำ ‘กล้องวงจรปิด’ เริ่มมาแต่ยุคแรกของเทคโนโลยีนี้ ซึ่งเป็นระบบ ‘ปิด’ แบบจริงจัง อาทิ กล้องเป็นภาพขาว/ดำ, ตัวกล้องถูกติดตั้งคงที่ ไม่สามารถสั่งให้กล้องเปลี่ยนมุมบันทึกได้ รวมถึงหากต้องการดูภาพ ก็ต้องไปดูจากจอที่ตั้งประจำที่

แต่ด้วยพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดรับกับความก้าวหน้าของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไร้สาย ทำให้กล้องวงจรปิดในปัจจุบันไม่ได้ปิดสนิท หรืออยู่ในวงจำกัดเหมือนยุคแรกเริ่ม ผู้ใช้งานระบบ CCTV ยุคใหม่ สามารถเรียกดูภาพ หรือติดตามเหตุการณ์ได้จากระยะไกลโดยผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือไม่จำเป็นต้องอยู่ในสถานที่ติดตั้งระบบ อีกทั้งยังบันทึกเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นไว้ในที่ปลอดภัยหรือที่ห่างไกล เพื่อหลีกเลี่ยงการทำลายหลักฐานจากผู้คิดร้าย ซึ่งอาจเข้าใจระบบบันทึกข้อมูลของกล้องวงจรปิดได้อีกด้วย

 

ที่กล่าวมา ล้วนเป็นเหตุผลสำหรับการตัดสินใจติดตั้งกล้องวงจรปิดในสถานที่ต่างๆ เพื่อป้องปรามเหตุใดๆที่อาจเกิดกับทรัพย์สินหรือบุคคลต่างๆ ทั้งในปกครองและทั่วไป ซึ่งปัจจุบันราคาการวางระบบและติดตั้ง CCTV อยู่ในระดับที่สามารถเข้าถึงได้ไม่ยาก และเมื่อเทียบกับผลงานของกล้องวงจรปิด ก็นับว่าคุ้มค่าอย่างยิ่ง

Similar Posts