Cloud CCTV

Cloud CCTV อีกเทคโนโลยีกล้องวงจรปิด

Cloud CCTV อีกเทคโนโลยีกล้องวงจรปิด

 

Cloud (คลาวด์) หรือ เมฆ ซึ่งไม่ใช่ก้อนเมฆที่ลอยล่องฟ่องฟูทั่วท้องฟ้า คงได้ยินคำนี้กันอย่างคุ้นหูในปัจจุบัน, คลาวด์ในวงการคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต หรือต่างๆนานาในสายไอที หมายถึง ศูนย์ข้อมูล หรือ Data Center ที่เน้นด้านฐานข้อมูลของระบบเครือข่าย อาทิ การนำเข้า ส่งออก จัดเก็บ ประมวลผล และอื่นๆเกี่ยวกับข้อมูล โดยผู้ใช้บริการไม่ต้องติดตั้งฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์ใดๆด้วยตนเอง แต่สามารถใช้บริการจากผู้ให้บริการ Cloud Computing ได้ ซึ่งการเข้าถึงข้อมูลสามารถทำได้จากทุกที่ ขอเพียงมีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่อเชื่อมต่อใช้งาน

 

ความคล่องตัวของ Cloud System เป็นที่นิยม และแพร่หลายเข้าสู่ระบบอิเลคทรอนิคส์และคอมพิวเตอร์ต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่ระบบกล้องวงจรปิด หรือ Closed Circuit TeleVision, CCTV ที่ยุคแรกๆนิยมเก็บข้อมูลไว้ในฮาร์ดแวร์ เช่น ฮาร์ดดิสก์ การ์ดเก็บข้อมูล เป็นต้น ซึ่งมักอยู่ภายในหรือใกล้เคียงกับสถานที่ติดตั้งระบบกล้อง CCTV นั้นๆ และด้วยข้อจำกัดของขนาดฮาร์ดแวร์ที่เลือกใช้ ทำให้เกิดข้อจำกัดอื่นตามมาด้วย เช่น ความละเอียด ระยะเวลาเก็บข้อมูล เป็นต้น นอกจากนี้ยังเกี่ยวพันถึงการถูกทำลายหรือสูญหายของข้อมูลอีกด้วย

 

ประโยชน์ของ Cloud CCTV เมื่อเทียบกับการบันทึกข้อมูลจากกล้องวงจรปิดไว้ที่ฮาร์ดแวร์ประจำที่ อาทิ

– ลดค่าใช้จ่ายการลงทุน

หากเปรียบเทียบการเก็บข้อมูลด้วยขนาดความจุที่เท่ากัน การเก็บไว้แบบเดิมๆด้วยเครื่องบันทึกภาพ (Digital Video Recorder, DVR) อาจต้องลงทุนด้วยตนเอง และเมื่อต้องการปรับเพิ่มขนาดก็ต้องลงทุนเพิ่มอีก ในขณะที่การเก็บภาพที่บันทึกได้จากกล้องวงจรปิดไว้กับ Cloud CCTV นอกจากเพียงชำระค่าบริการโดยไม่ต้องลงทุนระบบหลักๆเองแล้ว ยังสามารถปรับเพิ่ม/ลดขนาดพื้นที่เก็บข้อมูลตามความเหมาะสมได้อย่างไม่ยุ่งยาก หรือเป็นภาระค่าใช้จ่ายมากนัก

 

– Scalability

หรือความสามารถการขยายตัวของระบบปฏิบัติการ กระบวนการ หรือโมเดลธุรกิจต่างๆ ที่มักเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ในหลายๆเรื่องราว ระบบกล้องวงจรปิดบนคลาวด์สามารถปรับเพิ่มขนาดความจุได้ โดยอาจเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มบ้างตามสมควร แต่ไม่ต้องยุ่งยากกับการวางแผน การทดสอบ รวมถึงการลงทุน

 

– เข้าถึงได้จากระยะไกล

ระบบคลาวด์ใดๆล้วนเป็นการให้บริการระยะไกล (Remote Service) ไม่เว้นแม้ Cloud CCTV ขอเพียงหาช่องทางสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตได้ ก็สามารถเข้าถึงข้อมูลบนก้อนเมฆได้ ในส่วนของระบบกล้องวงจรปิดแบบคลาวด์นั้น ทำให้ผู้ใช้งานหรือผู้ดูแลระบบ CCTV สามารถเรียกดูข้อมูลได้จากหลากหลายสถานที่ ผ่านทางอุปกรณ์ที่คุ้นเคย อาทิ SmartPhone, Desktop (PC), Laptop (Notebook) รวมถึง Tablet การเรียกดูเป็นได้ทั้งแบบ Real Time และดูข้อมูลต่างๆที่(ฝาก)บันทึกไว้ โดยไม่ต้องเข้าถึงสถานที่ติดตั้งระบบแต่อย่างใด

 

– ความปลอดภัยข้อมูล

การเก็บข้อมูลไว้ในวงของระบบ CCTV ด้วยรูปแบบเดิม หากไม่มีเหตุการณ์รุนแรงหรือผิดปกติ ก็ดูเหมือนไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร แต่หากสูญเสียข้อมูลแบบสุดวิสัย ถูกทำลายหรือโจรกรรม โดยผู้ไม่หวังดีที่มีความรู้หลักการเก็บข้อมูลของระบบกล้องวงจรปิด แล้วการลงทุนที่ผ่านมาจะมีประโยชน์ใด ในเมื่อไม่มีข้อมูลที่บันทึกไว้ให้ตรวจสอบ การฝากข้อมูลไว้กับ Cloud CCTV ที่มักอยู่ห่างไกลจากสถานที่ติดตั้งกล้องวงจรปิด ซึ่งผู้ให้บริการมักมีการสำรองข้อมูลเป็นมาตรฐาน ทำให้ผู้ใช้บริการมั่นใจได้ว่า ข้อมูลที่ส่งไปเก็บไว้นั้น จะอยู่ดีมีสุขทุกวัน รอการเรียกใช้ได้ทันทีเมื่อต้องการ

 

– เทคโนโลยีล่าสุด

หากเป็นผู้ให้บริการ Cloud CCTV แบบเต็มรูปแบบ มักไม่ได้ให้บริการเฉพาะการเก็บข้อมูล แต่ยังบริการด้านซอร์ฟแวร์หรือเทคโนโลยีต่างๆด้วย แน่นอนว่าเทคโนโลยีการเฝ้าระวังด้วยกล้องวงจรปิดยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีการปรับปรุงหรือเพิ่มคุณสมบัติใหม่อยู่เนืองๆ ความสามารถมากมายที่ก้าวหน้าล่าสุด อาทิ การจดจำใบหน้า ป้ายทะเบียนรถ การนับจำนวน ล้วนไม่มีให้ในระบบกล้องวงจรปิดรุ่นก่อนหน้า หากต้องการอาจต้องลงทุนเพิ่มเติม ซึ่งเป็นเรื่องไม่สะดวกสำหรับหลายคน การใช้บริการ Cloud CCTV ทำให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีล่าสุดได้โดยไม่ยุ่งยากเกินไป

 

 

การบันทึกข้อมูลที่ได้จากกล้องวงจรปิดด้วยวิธีการเดิมๆ ก็ยังสามารถใช้งานได้อย่างเหมาะสมในบริบทที่ต่างกัน ไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนฉับพลัน/ทันที แต่เทคโนโลยีมีให้ไว้ให้ศึกษาและก้าวตาม ดังนั้น Cloud CCTV จึงควรถูกวางไว้ในจุดที่อาจก้าวไปถึงได้ในไม่นานหรือไม่เกินเอื้อม

Similar Posts