สายนำสัญญาณสำหรับกล้องวงจรปิด

สายนำสัญญาณสำหรับกล้องวงจรปิด

กล้องวงจรปิด มาจากภาษาอังกฤษ Closed Circuit TeleVision หรือเรียกกันอย่างย่อว่า CCTV หรืออาจเรียกในชื่ออื่น อาทิ กล้องรักษาความปลอดภัย Security Camera หรือเรียก กล้องตรวจตราและเฝ้าระวัง Surveillance Camera ก็เข้าใจได้เช่นกัน

 

ระบบการทำงานของกล้องวงจรปิดโดยรวมคือ กล้องจับภาพแล้วส่งไปบันทึกไว้ที่ DVR (Digital Video Recorder) หรือระบบบันทึกภาพแบบดิจิตอลที่ใช้กับกล้องวงจรปิดระบบอนาล็อก (Analog CCTV Camera) การเชื่อมต่อสัญญาณระหว่างกล้องวงจรปิดกับ DVR นิยมใช้สายโคแอกเชียล (Coaxial Cable) ซึ่งมีอยู่หลายชนิด รูปแบบหนึ่งที่คุ้นตาของสายนำสัญญาณประเภทนี้คือ สายที่ต่อจากเสาอากาศไปยังเครื่องรับโทรทัศน์ หรือใช้ต่อระหว่างจานรับสัญญาณดาวเทียมกับเครื่องรับสัญญาณฯ

 

ลักษณะทางกายภาพของสายโคแอคเชียล เป็นสายนำสัญญาณแบบกลม แกนกลางเป็นสายทองแดงล้วนหรือทองแดงผสมเหล็ก หุ้มฉนวน PE (PolyEthylene Foam) เพื่อป้องกันการรั่วไหลของกระแสไฟฟ้า หุ้มตามด้วยชั้นฟอยล์ (Foil) มีสายโลหะฝอยถักลักษณะคล้ายตาข่ายหุ้มรอบอีกชั้น เรียกว่า สายชีลด์ (Shield Cable) มีหน้าที่เป็นโล่ (Shield) ป้องกันสัญญาณรบกวน (Noise) จากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือสัญญาณอื่นที่อาจรบกวนสัญญาณหลักที่ต้องการใช้งาน จากนั้นจึงหุ้มด้วยฉนวนชั้นนอกสุด

 

ในส่วนของสายชีลด์นั้น นิยมใช้กัน 3 รูปแบบหลักๆ คือ ทองแดงเคลือบดีบุก, อลูมิเนียมฟอยล์ และ Copper Tape

 

๏ ทองแดงเคลือบดีบุก

สามารถอ่อนตัวได้สูงสุดใน 3 รูปแบบ จึงมักใช้กับสายโคแอกเชียลที่ต้องมีการเคลื่อนไหวได้ดีกว่าแบบอื่น ป้องกันสัญญาณรบกวนช่วงความถี่ต่ำดีกว่าการชีลด์แบบอลูมิเนียมฟอยล์ นำไฟฟ้าดีด้วยคุณสมบัติของทองแดง เหมาะกับสัญญาณรบกวนปริมาณมาก หรือต้องเดินสายระยะทางไกลๆ แต่ราคาก็สูงสุดในกลุ่มสายชีลด์ทั้ง 3 รูปแบบ ทั้งด้วยวัสดุและขั้นตอนการผลิต

 

๏ อลูมิเนียมฟอยล์ (Aluminium Foil)

ต้นทุนวัสดุต่ำ ผลิตง่าย ป้องกันสัญญาณรบกวนช่วงความถี่สูงได้ดี แต่ไม่เหมาะกับสายโคแอกเชียลที่มีการเคลื่อนไหว เนื่องจากอาจทำให้อลูมิเนียมฟอยล์ฉีกขาดได้

 

๏ Copper Tape

ขั้นตอนการผลิตไม่ยุ่งยาก ต้นทุนวัสดุอยู่ระหว่างสายชีลด์แบบทองแดงเคลือบดีบุกและแบบอลูมิเนียมฟอยล์ สามารถป้องกันสัญญาณรบกวนช่วงความถี่ต่ำได้ดีกว่าการชีลด์แบบอลูมิเนียมฟอยล์ นำไฟฟ้าได้ดีเพราะผลิตจากทองแดง เหมาะกับสัญญาณรบกวนปริมาณมาก หรือต้องเดินสายระยะทางไกลๆ เช่นเดียวกับสายชีลด์แบบทองแดงเคลือบดีบุก แต่ต่างที่มีความแข็งกว่ามาก ทำให้สายโคแอกเชียลที่ใช้การชีลด์รูปแบบนี้อ่อนตัวได้น้อยมาก ไม่เหมาะกับการเดินสายที่ต้องดัด/งอ

 

การใช้งานสายโคแอกเชียล ต้องใช้สายชีลด์เป็นสายกราวด์ด้วย เพื่อให้สัญญาณรบกวนไหลลงดิน ไม่เช่นนั้นสายชีลด์ก็แทบไม่มีประโยชน์ใดเลย

 

Coaxial Cable ที่นิยมใช้กับกล้องวงจรปิด หรือกล้อง CCTV มี 3 ชนิดหลักๆ คือ สาย RG6, RG59 และ RG11 (RG, Radio Grade)

 

๏ สาย RG6

เป็นสายนำสัญญาณที่นิยมนำมาใช้งานในระบบต่างๆทั้งเสียงและภาพ (Audio & Video) กล้องวงจรปิดก็นิยมใช้งานสายชนิดนี้เช่นกัน สาย RG6 ที่นำมาใช้งานกับระบบ CCTV ควรเป็นสายที่มีคุณภาพสูง มีคุณสมบัติป้องกันสัญญาณรบกวนได้กว่า 95% หากนำสายคุณภาพต่ำมาใช้งาน อาจทำให้ความคมชัดของภาพที่บันทึกโดยกล้องวงจรปิด ลดลงตามคุณภาพของสายด้วย สาย RG6 มีทั้งแบบสายชีลด์เป็นทองแดงและอลูมิเนียมฟอยล์ การเลือกใช้งานขึ้นอยู่กับตำแหน่งหรือสถานที่ติดตั้งกล้องวงจรปิด หากระยะเดินสายไกลราว 500 เมตรขึ้นไป ควรใช้สายชีลด์ทองแดงเคลือบดีบุก หากต่ำกว่านั้นสามารถใช้สายชีลด์อลูมิเนียมฟอยล์ได้

 

สาย RG6 เหมาะเดินสายใช้งานกับกล้อง CCTV ในระยะไม่เกิน 700 เมตร สามารถพบเห็นได้ทั้งสีขาวและดำ สายสีขาวมักไม่ทนทานต่อความร้อนและแสงแดด ซึ่งอาจทำให้ฉนวนสีขาวเปื่อยและฉีกขาดได้ง่าย จึงมักนิยมใช้สาย RG6 สีขาวภายในอาคารเท่านั้น ส่วนสาย RG6 สีดำ มีคุณสมบัติและราคาสูงกว่าสาย RG6 สีขาว ทนความร้อน ทนแดด ทนฝนได้ดี ระบบกล้องวงจรปิดโดยทั่วไปจึงมักนิยมใช้สาย RG6 สีดำ ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งในและนอกอาคาร ด้วยคุณภาพและอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า

 

๏ สาย RG59

เป็นสายนำสัญญาณที่มีคุณสมบัติเหมือนสาย RG6 แต่มีขนาดเล็กกว่า มีความยืดหยุ่นสูงกว่า แต่มีการลดทอนของสัญญาณมากกว่าสาย RG6, สาย RG59 สามารถนำสัญญาณได้ในระยะเต็มที่ราว 200 เมตร อันเป็นผลจากขนาดสายที่เล็กกว่า สาย RG59 จึงเหมาะใช้งานร่วมกับกล้องวงจรปิด (CCTV) ภายในอาคาร เช่น ในลิฟต์ ห้องทำงาน บ้านเรือน ร้านค้า เป็นต้น

 

๏ สาย RG11

อีกสายนำสัญญาณที่นิยมใช้เดินระบบกล้องวงจรปิด เป็นสายที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของแกนกลางใหญ่ และแข็งกว่าทั้งสาย RG59 และ RG6 ทำให้สาย RG11 สามารถนำสัญญาณได้ไกลถึง 1,000 เมตร หากต้องเดินสายไกลเกินกว่า 1,000 เมตร อาจเลือกใช้ Booster ช่วยขยายสัญญาณได้ โดย Booster บางรุ่นสามารถนำสัญญาณได้ไกลถึง 2,000 เมตร, สาย RG11 ทนสภาวะอากาศได้ดี ถึงขั้นใช้เดินสายระหว่างอาคารได้ แต่ก็ไม่เหมาะเลยหากเลือกใช้สาย RG11 ภายในอาคาร อันเนื่องจากความแข็ง(มาก)ของมัน นั่นเอง

 

ด้วยพัฒนาการและเทคโนโลยี ทั้งของตัวกล้อง CCTV เอง และสายนำสัญญาณ ทำให้ลักษณะการเชื่อมต่อสัญญาณแบบเดิมเริ่มปรับเปลี่ยนไปบ้าง อย่างไรก็ตาม ระบบกล้องวงจรปิดก็ยังสามารถใช้งาน Coaxial Cable ได้อีกนาน ทั้งด้วยตัวอุปกรณ์เองและค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าการเชื่อมต่อกล้อง CCTV กับ DVR ในรูปแบบอื่น

J

 

Similar Posts