กล้องตรวจจับความเคลื่อนไหว

กล้องวงจรปิด เทคโนโลยีที่ยากหยุด

กล้องวงจรปิด เทคโนโลยีที่ยากหยุด
กล้องวงจรปิด เทคโนโลยีที่ยากหยุด

 

แม้กล้องวงจรปิด (Closed Circuit TeleVision หรือ CCTV) ได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่า เป็นประโยชน์อย่างมากต่อมวลชนทั่วไป แต่ก็เช่นเดียวกับอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีอื่น ที่มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องและยากหยุดยั้ง ปัจจุบันกล้องวงจรปิดมีคุณสมบัติขั้นสูง มีฟังก์ชั่นที่ซับซ้อนมากขึ้น ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำ อาทิ

 

  1. กล้องจดจำใบหน้า

กล้องวงจรปิดความจำเลิศนี้ ไม่เพียงแสดงให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นผ่านสายตาอิเลคทรอนิคส์ของมัน แต่ยังมีความสามารถจดจำใบหน้าของผู้คนที่ผ่านเข้ามาในรัศมีการทำงาน ทำให้หลังวิเคราะห์ข้อมูลแล้ว จึงสรุปและแจ้งเตือนได้ในทันทีว่า บุคคลหน้าเดิมหรือแปลกหน้าที่เข้ามาเยี่ยมเยือนในสถานที่นั้นๆ

 

กล้อง CCTV แบบจดจำใบหน้า ประกอบด้วย 2 หลักการที่กระทำต่อใบหน้าบุคคล คือ ตรวจจับ และ จดจำ

1.1 ตรวจจับใบหน้า (Face Detection) เป็นการนำภาพใบหน้าที่ผ่านเข้ามาในสายตากล้องฯ เข้าสู่กระบวนการตีความหมายใบหน้าว่า เป็นหน้ามนุษย์หรือไม่ มีลักษณะทางกายภาพอย่างไร ซึ่งกระบวนนี้การค่อนข้างซับซ้อน อัลกอริธึมตรวจจับใบหน้ามักเริ่มด้วยการค้นหา ‘ดวงตา’ ก่อน ซึ่งเป็นคุณสมบัติง่ายที่สุดในการตรวจจับ หากตรวจพบดวงตา จึงตรวจจับรูปลักษณ์ใบหน้าส่วนอื่น อาทิ คิ้ว ปาก จมูก รวมถึงม่านตา เมื่ออัลกอริทึมสรุปว่าตรวจพบความน่าจะเป็นของใบหน้าแล้ว จึงตรวจสอบรายละเอียดอื่นเพิ่มเติม และสรุปว่า ตรวจพบใบหน้าหรือไม่

 

1.2 จดจำใบหน้า (Face Recognition) คือกระบวนการนำภาพใบหน้าที่ตรวจจับได้และประมวลผลแล้ว จากขั้นตอนการตรวจจับใบหน้า มาเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลใบหน้าที่บันทึกไว้ เพื่อระบุว่าใบหน้าที่ตรวจจับได้ตรงกับบุคคลใดในฐานข้อมูลหรือไม่ อัลกอริทึมของระบบจดจำใบหน้าทำการวิเคราะห์โครงสร้างใบหน้าในหลายจุด ก่อนสรุปว่าตรงกับของผู้ใด(หรือไม่) เทคโนโลยีตรวจจับและจดจำใบหน้าสามารถนำมาใช้งานได้หลายภารกิจ ไม่เฉพาะด้านความปลอดภัย ขึ้นกับการประยุกต์ใช้ อาทิ ห้างสรรพสินค้า ธนาคาร สนามกีฬา ระบบขนส่ง ไม่เว้นแม้บ่อนการพนัน ความสำเร็จของระบบจดจำใบหน้าใดๆ ขึ้นอยู่กับความแม่นยำการวิเคราะห์ของแต่ละอัลกอริทึมที่เลือกใช้

 

  1. กล้องตรวจจับพฤติกรรม

กล้องวงจรปิดเพื่อตรวจจับพฤติกรรม (Behavior Detection Camera) ในปัจจุบันสามารถตรวจจับกริยา ท่าทาง ของผู้คนในสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่สาธารณะ ทั้งเพื่อการรักษาความปลอดภัยและวิเคราะห์พฤติกรรมต่างๆ เพื่อประโยชน์ทางมานุษยวิทยา ทำให้เกิดการเรียนรู้ว่าบุคคลนั้นๆกำลังนั่ง ยืน วิ่ง กระโดด หรือสะดุดหัวทิ่ม หลังประมวลผลว่าอากัปกริยานั้นๆเป็นปกติหรือไม่ ระบบจะแจ้งเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องให้ทราบ และตัดสินใจต่อไป

 

กล้อง CCTV ประเภทนี้อำนวยประโยชน์ในหลายภารกิจ อาทิ ร้านค้าปลีกหรือห้างสรรพสินค้า ธนาคาร สถานีคมนาคมทุกรูปแบบ ลานจอดรถ ด้วยการประมวลผลพฤติกรรมของบุคคลในพื้นที่ ว่ามีแนวโน้มเป็นภัยคุกคามหรือไม่ หากพบความผิดปกติ ระบบจะส่งสัญญาณเตือนพร้อมภาพและข้อมูลอื่นไปยังผู้เกี่ยวข้อง เพื่อประเมินความน่าจะเป็น และเตรียมพร้อมรับเหตุการณ์อันอาจเกิดขึ้นได้ทันที

 

  1. กล้องตรวจจับอารมณ์

หรือ Emotion Recognition Camera กล้องวงจรปิดชนิดนี้ อาศัยหลักการที่ว่า มนุษย์แสดงอารมณ์โดยวิธีการที่หลากหลาย ทั้งท่าทางภาษากาย น้ำเสียง ฯลฯ แต่วิธีการที่โดดเด่นคือ การแสดงออกทางสีหน้า อาทิ คิ้วขมวด หน้าผากย่น ตามองบน รอยยิ้มกว้าง สิ่งเหล่านี้สามารถบอกได้ถึงสภาพจิตใจของแต่ละคน

 

อัลกอริทึมรูปแบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence, AI) เป็นเทคโนโลยีสุดล้ำที่กำลังเติบโตทุกวัน กล้องวงจรปิดตรวจจับอารมณ์มักมาพร้อมกับ AI ทำให้มีสามารถสูงในการตรวจจับ รวมถึงวิเคราะห์อารมณ์หรือความรู้สึก ด้วยการอ่านสีหน้าขอผู้คนที่ผ่านเข้ามาในมุมกล้อง บันทึกจากกล้องวงจรปิดเพื่อตรวจจับอารมณ์สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลาย อาทิ การควบคุมฝูงชน ความปลอดภัยบนท้องถนน การรวบรวมสถิติต่างๆ รวมถึงการตลาดแบบค้าปลีก ตัวอย่างเช่น วิเคราะห์ว่า ลูกค้าแสดงอารมณ์เชิงบวกหรือลบ ในขณะที่กำลังพิจารณาหรือเลือกซื้อสินค้า เป็นต้น

 

อย่างไรก็ดี การแสดงออกทางสีหน้าเพียงอย่างเดียวไม่ใช่วิธีเดียวที่บอกอารมณ์ผู้คน ดังนั้นการวิเคราะห์ ‘เฉพาะใบหน้า’ ไม่สามารถให้ผลลัพธ์ที่แม่นยำ 100% ต้องประเมินร่วมกับข้อมูลอื่นด้วย

 

  1. กล้องตรวจจับความเคลื่อนไหว

Motion Detection Camera กล้องวงจรปิดประเภทนี้มีอุปกรณ์ตรวจจับหรือเซ็นเซอร์ในตัวเพื่อตรวจจับการเคลื่อนไหว ซึ่งอาจเป็นได้หลายวิธีการตรวจจับ อาทิ ด้วยคลื่นอัลตร้าโซนิค ไมโครเวฟ เลเซอร์ อินฟราเรด หรืออาจเป็นรูปแบบอื่น การวิเคราะห์ความผิดปกติที่อาจเป็นได้ เช่น การตรวจจับความร้อน การขวางเส้นทางตัวตรวจจับฯ เป็นต้น

 

เนื่องจากการเคลื่อนไหวที่จับได้ อาจเป็นได้ทั้งคน สัตว์ หรือสิ่งของ กล้องตรวจจับความเคลื่อนไหวบางรุ่นไม่สามารถแยกแยะตัวแปรเหล่านี้ได้ แต่ก็มีหลายรุ่นที่มีอัลกอริธึมร่วมทำงาน ทำให้สามารถวิเคราะห์ได้ว่าสิ่งเคลื่อนไหวที่ตรวจพบนั้น เป็นมนุษย์หรือไม่ (Human Motion Detection) ซึ่งเมื่อพบความผิดปกติ ระบบจะส่งสัญญาณแจ้งเตือนไปยังผู้เกี่ยวข้อง ทั้งรูปแบบมีสายและไร้สาย ในขณะที่ภาพเหตุการณ์ก็ถูกบันทึกไว้ด้วย บางระบบของกล้อง CCTV ตรวจจับความเคลื่อนไหว ไม่เพียงตรวจจับฯเท่านั้น แต่สามารถวิเคราะห์ได้ถึงขั้นว่า ที่ผ่านเข้ามาในพื้นที่นั้น คือบุคคลหน้าเดิม หรือแปลกหน้า

 

กล้องวงจรปิดตรวจจับความเคลื่อนไหวหลายๆรุ่น อาจทำงานแบบเงียบๆเพียงส่งการแจ้งเตือนไปยังผู้ดูแล แต่บางรุ่นก็สามารถส่งเสียง(โวยวาย)ใดๆออกมาทันที เพื่อเป็นการป้องปราม ซึ่งทำพร้อมกับการแจ้งเตือนฯ

 

  1. กล้องจราจร

Traffic Camera เริ่มเป็นที่คุ้นเคยกับผู้ขับขี่ยวดยานในประเทศไทย โดยเฉพาะในย่านการจราจรที่แสนวุ่นวาย รวมถึงทางหลวงที่มักใช้ความเร็วเกินกำหนด ฟังก์ชั่นพื้นฐานของกล้องวงจรปิดประเภทนี้ก็คือ ตรวจจับยานพาหนะที่ผ่านสายตากล้อง พร้อมคำนวณความเร็วการเคลื่อนที่ หลังประมวลผลก็ส่งข้อมูลให้ผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งหลักๆก็คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ควบคุม ดูแล และรักษากฎ(หมาย)จราจร

 

ปัจจุบันกล้องวงจรปิดเพื่อการจราจรไม่ได้มีคุณสมบัติเพียงตรวจจับความเร็วยานพาหนะเท่านั้น แต่ยังมีอัลกอริทึมประเมินความหนาแน่นของการจราจรบนท้องถนน โดยระบบสามารถปรับเปลี่ยนสัญญาณไฟจราจรตามความคับคั่งของถนน ณ เวลานั้นๆ(Real Time) รวมถึงตรวจนับจำนวนผู้ใช้ถนนโดยอัตโนมัติ ทั้งคนเดินเท้าและยานพาหนะ การประมวลผลข้อมูลเป็นแบบวินาทีต่อวินาที เพื่อหาวิธีที่ดีที่สุดในการจราจรให้สัมพันธ์กับพื้นที่ใกล้เคียง นอกจากนั้นพัฒนาการของกล้องจราจร ยังอาจตรวจสอบรถต้องสงสัยหรือผิดปกติได้อีกด้วย

 

ในกรุงเทพมหานครเอง ก็คงเริ่มคุ้นเคยกับการที่กล้อง CCTV เพื่อการจราจร สามารถตรวจจับรถทับเส้นทึบ แย่งช่องจราจรแถวคอสะพาน ทางลอด รวมถึงการเดินรถในเขตห้าม ซึ่งอาจรับทราบข่าวสารจากหลายสื่อ หรืออาจปรากฏในบันทึกของกล้องฯ … ด้วยตัวเอง

 

ล่าสุด ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร (บก.02) กองบังคับการตำรวจจราจร ได้ประกาศใช้งานระบบตรวจจับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร (Red Light Camera System, RLC) ซึ่งทำงานอัตโนมัติ 24 ชั่วโมง ทุกสภาพอากาศ ด้วยกล้อง CCTV OverView คมชัด ด้วยความละเอียดสูง 4K หรือ 12 ล้านพิกเซล ทำงานร่วมกับกล้องวงจรปิดอินฟราเรดความละเอียด 2 ล้านพิกเซล โดยกล้องระบบ RLC สามารถบันทึกได้ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว เพื่อตรวจสอบข้อมูลต่างๆของรถที่ฝ่าฝืนสัญญาณไฟ อาทิ ทะเบียน ยี่ห้อ สี และรุ่นรถ ก่อนออกใบสั่งโดยอัตโนมัติ และส่งไปยังที่อยู่เจ้าของรถภายใน 7 วัน

 

เทคโนโลยีกล้องวงจรปิดอัจฉริยะ RLC สามารถเก็บข้อมูลได้ไม่น้อยกว่า 2 เดือน ทั้งยังตรวจสอบได้ด้วยว่า มีการแก้ไข ตกแต่ง ดัดแปลง ตัวเลข/ตัวอักษร ของป้ายทะเบียนรถหรือไม่ โดยระบบจะทำการเปรียบเทียบภาพป้ายฯที่บันทึกได้กับข้อมูลที่มีอยู่ อาทิ ยี่ห้อ รุ่น รวมถึงสีรถ หากพบว่าไม่ตรงกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะติดตามรถคันดังกล่าวมาตรวจสอบต่อไป

 

ดูเหมือนความก้าวหน้าของกล้องวงจรปิดนั้น ยากหยุดพัฒนา แม้เทคโนโลยีขั้นสูงของระบบกล้อง CCTV อาจส่งผลกระทบหรือก้าวล่วงเข้าไปในชีวิตประจำวันของหลายคน แต่การอาศัยบนโลกยุคใหม่ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินล้วนเป็นสิ่งต้องคำนึง ซึ่งกล้องวงจรปิดคือ หนึ่งในผู้แลมอง ปกป้อง และพิทักษ์สรรพสิ่งต่างๆในดาวน้อยดวงนี้

Similar Posts