กล้องวงจรปิด เทคโนโลยีที่ยากหยุด
แม้กล้องวงจรปิด (Closed Circuit TeleVision หรือ CCTV) ได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่า เป็นประโยชน์อย่างมากต่อมวลชนทั่วไป แต่ก็เช่นเดียวกับอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีอื่น ที่มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องและยากหยุดยั้ง ปัจจุบันกล้องวงจรปิดมีคุณสมบัติขั้นสูง มีฟังก์ชั่นที่ซับซ้อนมากขึ้น ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำ อาทิ
- กล้องจดจำใบหน้า
กล้องวงจรปิดความจำเลิศนี้ ไม่เพียงแสดงให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นผ่านสายตาอิเลคทรอนิคส์ของมัน แต่ยังมีความสามารถจดจำใบหน้าของผู้คนที่ผ่านเข้ามาในรัศมีการทำงาน ทำให้หลังวิเคราะห์ข้อมูลแล้ว จึงสรุปและแจ้งเตือนได้ในทันทีว่า บุคคลหน้าเดิมหรือแปลกหน้าที่เข้ามาเยี่ยมเยือนในสถานที่นั้นๆ
กล้อง CCTV แบบจดจำใบหน้า ประกอบด้วย 2 หลักการที่กระทำต่อใบหน้าบุคคล คือ ตรวจจับ และ จดจำ
1.1 ตรวจจับใบหน้า (Face Detection) เป็นการนำภาพใบหน้าที่ผ่านเข้ามาในสายตากล้องฯ เข้าสู่กระบวนการตีความหมายใบหน้าว่า เป็นหน้ามนุษย์หรือไม่ มีลักษณะทางกายภาพอย่างไร ซึ่งกระบวนนี้การค่อนข้างซับซ้อน อัลกอริธึมตรวจจับใบหน้ามักเริ่มด้วยการค้นหา ‘ดวงตา’ ก่อน ซึ่งเป็นคุณสมบัติง่ายที่สุดในการตรวจจับ หากตรวจพบดวงตา จึงตรวจจับรูปลักษณ์ใบหน้าส่วนอื่น อาทิ คิ้ว ปาก จมูก รวมถึงม่านตา เมื่ออัลกอริทึมสรุปว่าตรวจพบความน่าจะเป็นของใบหน้าแล้ว จึงตรวจสอบรายละเอียดอื่นเพิ่มเติม และสรุปว่า ตรวจพบใบหน้าหรือไม่
1.2 จดจำใบหน้า (Face Recognition) คือกระบวนการนำภาพใบหน้าที่ตรวจจับได้และประมวลผลแล้ว จากขั้นตอนการตรวจจับใบหน้า มาเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลใบหน้าที่บันทึกไว้ เพื่อระบุว่าใบหน้าที่ตรวจจับได้ตรงกับบุคคลใดในฐานข้อมูลหรือไม่ อัลกอริทึมของระบบจดจำใบหน้าทำการวิเคราะห์โครงสร้างใบหน้าในหลายจุด ก่อนสรุปว่าตรงกับของผู้ใด(หรือไม่) เทคโนโลยีตรวจจับและจดจำใบหน้าสามารถนำมาใช้งานได้หลายภารกิจ ไม่เฉพาะด้านความปลอดภัย ขึ้นกับการประยุกต์ใช้ อาทิ ห้างสรรพสินค้า ธนาคาร สนามกีฬา ระบบขนส่ง ไม่เว้นแม้บ่อนการพนัน ความสำเร็จของระบบจดจำใบหน้าใดๆ ขึ้นอยู่กับความแม่นยำการวิเคราะห์ของแต่ละอัลกอริทึมที่เลือกใช้
- กล้องตรวจจับพฤติกรรม
กล้องวงจรปิดเพื่อตรวจจับพฤติกรรม (Behavior Detection Camera) ในปัจจุบันสามารถตรวจจับกริยา ท่าทาง ของผู้คนในสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่สาธารณะ ทั้งเพื่อการรักษาความปลอดภัยและวิเคราะห์พฤติกรรมต่างๆ เพื่อประโยชน์ทางมานุษยวิทยา ทำให้เกิดการเรียนรู้ว่าบุคคลนั้นๆกำลังนั่ง ยืน วิ่ง กระโดด หรือสะดุดหัวทิ่ม หลังประมวลผลว่าอากัปกริยานั้นๆเป็นปกติหรือไม่ ระบบจะแจ้งเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องให้ทราบ และตัดสินใจต่อไป
กล้อง CCTV ประเภทนี้อำนวยประโยชน์ในหลายภารกิจ อาทิ ร้านค้าปลีกหรือห้างสรรพสินค้า ธนาคาร สถานีคมนาคมทุกรูปแบบ ลานจอดรถ ด้วยการประมวลผลพฤติกรรมของบุคคลในพื้นที่ ว่ามีแนวโน้มเป็นภัยคุกคามหรือไม่ หากพบความผิดปกติ ระบบจะส่งสัญญาณเตือนพร้อมภาพและข้อมูลอื่นไปยังผู้เกี่ยวข้อง เพื่อประเมินความน่าจะเป็น และเตรียมพร้อมรับเหตุการณ์อันอาจเกิดขึ้นได้ทันที
- กล้องตรวจจับอารมณ์
หรือ Emotion Recognition Camera กล้องวงจรปิดชนิดนี้ อาศัยหลักการที่ว่า มนุษย์แสดงอารมณ์โดยวิธีการที่หลากหลาย ทั้งท่าทางภาษากาย น้ำเสียง ฯลฯ แต่วิธีการที่โดดเด่นคือ การแสดงออกทางสีหน้า อาทิ คิ้วขมวด หน้าผากย่น ตามองบน รอยยิ้มกว้าง สิ่งเหล่านี้สามารถบอกได้ถึงสภาพจิตใจของแต่ละคน
อัลกอริทึมรูปแบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence, AI) เป็นเทคโนโลยีสุดล้ำที่กำลังเติบโตทุกวัน กล้องวงจรปิดตรวจจับอารมณ์มักมาพร้อมกับ AI ทำให้มีสามารถสูงในการตรวจจับ รวมถึงวิเคราะห์อารมณ์หรือความรู้สึก ด้วยการอ่านสีหน้าขอผู้คนที่ผ่านเข้ามาในมุมกล้อง บันทึกจากกล้องวงจรปิดเพื่อตรวจจับอารมณ์สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลาย อาทิ การควบคุมฝูงชน ความปลอดภัยบนท้องถนน การรวบรวมสถิติต่างๆ รวมถึงการตลาดแบบค้าปลีก ตัวอย่างเช่น วิเคราะห์ว่า ลูกค้าแสดงอารมณ์เชิงบวกหรือลบ ในขณะที่กำลังพิจารณาหรือเลือกซื้อสินค้า เป็นต้น
อย่างไรก็ดี การแสดงออกทางสีหน้าเพียงอย่างเดียวไม่ใช่วิธีเดียวที่บอกอารมณ์ผู้คน ดังนั้นการวิเคราะห์ ‘เฉพาะใบหน้า’ ไม่สามารถให้ผลลัพธ์ที่แม่นยำ 100% ต้องประเมินร่วมกับข้อมูลอื่นด้วย
- กล้องตรวจจับความเคลื่อนไหว
Motion Detection Camera กล้องวงจรปิดประเภทนี้มีอุปกรณ์ตรวจจับหรือเซ็นเซอร์ในตัวเพื่อตรวจจับการเคลื่อนไหว ซึ่งอาจเป็นได้หลายวิธีการตรวจจับ อาทิ ด้วยคลื่นอัลตร้าโซนิค ไมโครเวฟ เลเซอร์ อินฟราเรด หรืออาจเป็นรูปแบบอื่น การวิเคราะห์ความผิดปกติที่อาจเป็นได้ เช่น การตรวจจับความร้อน การขวางเส้นทางตัวตรวจจับฯ เป็นต้น
เนื่องจากการเคลื่อนไหวที่จับได้ อาจเป็นได้ทั้งคน สัตว์ หรือสิ่งของ กล้องตรวจจับความเคลื่อนไหวบางรุ่นไม่สามารถแยกแยะตัวแปรเหล่านี้ได้ แต่ก็มีหลายรุ่นที่มีอัลกอริธึมร่วมทำงาน ทำให้สามารถวิเคราะห์ได้ว่าสิ่งเคลื่อนไหวที่ตรวจพบนั้น เป็นมนุษย์หรือไม่ (Human Motion Detection) ซึ่งเมื่อพบความผิดปกติ ระบบจะส่งสัญญาณแจ้งเตือนไปยังผู้เกี่ยวข้อง ทั้งรูปแบบมีสายและไร้สาย ในขณะที่ภาพเหตุการณ์ก็ถูกบันทึกไว้ด้วย บางระบบของกล้อง CCTV ตรวจจับความเคลื่อนไหว ไม่เพียงตรวจจับฯเท่านั้น แต่สามารถวิเคราะห์ได้ถึงขั้นว่า ที่ผ่านเข้ามาในพื้นที่นั้น คือบุคคลหน้าเดิม หรือแปลกหน้า
กล้องวงจรปิดตรวจจับความเคลื่อนไหวหลายๆรุ่น อาจทำงานแบบเงียบๆเพียงส่งการแจ้งเตือนไปยังผู้ดูแล แต่บางรุ่นก็สามารถส่งเสียง(โวยวาย)ใดๆออกมาทันที เพื่อเป็นการป้องปราม ซึ่งทำพร้อมกับการแจ้งเตือนฯ
- กล้องจราจร
Traffic Camera เริ่มเป็นที่คุ้นเคยกับผู้ขับขี่ยวดยานในประเทศไทย โดยเฉพาะในย่านการจราจรที่แสนวุ่นวาย รวมถึงทางหลวงที่มักใช้ความเร็วเกินกำหนด ฟังก์ชั่นพื้นฐานของกล้องวงจรปิดประเภทนี้ก็คือ ตรวจจับยานพาหนะที่ผ่านสายตากล้อง พร้อมคำนวณความเร็วการเคลื่อนที่ หลังประมวลผลก็ส่งข้อมูลให้ผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งหลักๆก็คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ควบคุม ดูแล และรักษากฎ(หมาย)จราจร
ปัจจุบันกล้องวงจรปิดเพื่อการจราจรไม่ได้มีคุณสมบัติเพียงตรวจจับความเร็วยานพาหนะเท่านั้น แต่ยังมีอัลกอริทึมประเมินความหนาแน่นของการจราจรบนท้องถนน โดยระบบสามารถปรับเปลี่ยนสัญญาณไฟจราจรตามความคับคั่งของถนน ณ เวลานั้นๆ(Real Time) รวมถึงตรวจนับจำนวนผู้ใช้ถนนโดยอัตโนมัติ ทั้งคนเดินเท้าและยานพาหนะ การประมวลผลข้อมูลเป็นแบบวินาทีต่อวินาที เพื่อหาวิธีที่ดีที่สุดในการจราจรให้สัมพันธ์กับพื้นที่ใกล้เคียง นอกจากนั้นพัฒนาการของกล้องจราจร ยังอาจตรวจสอบรถต้องสงสัยหรือผิดปกติได้อีกด้วย
ในกรุงเทพมหานครเอง ก็คงเริ่มคุ้นเคยกับการที่กล้อง CCTV เพื่อการจราจร สามารถตรวจจับรถทับเส้นทึบ แย่งช่องจราจรแถวคอสะพาน ทางลอด รวมถึงการเดินรถในเขตห้าม ซึ่งอาจรับทราบข่าวสารจากหลายสื่อ หรืออาจปรากฏในบันทึกของกล้องฯ … ด้วยตัวเอง
ล่าสุด ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร (บก.02) กองบังคับการตำรวจจราจร ได้ประกาศใช้งานระบบตรวจจับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร (Red Light Camera System, RLC) ซึ่งทำงานอัตโนมัติ 24 ชั่วโมง ทุกสภาพอากาศ ด้วยกล้อง CCTV OverView คมชัด ด้วยความละเอียดสูง 4K หรือ 12 ล้านพิกเซล ทำงานร่วมกับกล้องวงจรปิดอินฟราเรดความละเอียด 2 ล้านพิกเซล โดยกล้องระบบ RLC สามารถบันทึกได้ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว เพื่อตรวจสอบข้อมูลต่างๆของรถที่ฝ่าฝืนสัญญาณไฟ อาทิ ทะเบียน ยี่ห้อ สี และรุ่นรถ ก่อนออกใบสั่งโดยอัตโนมัติ และส่งไปยังที่อยู่เจ้าของรถภายใน 7 วัน
เทคโนโลยีกล้องวงจรปิดอัจฉริยะ RLC สามารถเก็บข้อมูลได้ไม่น้อยกว่า 2 เดือน ทั้งยังตรวจสอบได้ด้วยว่า มีการแก้ไข ตกแต่ง ดัดแปลง ตัวเลข/ตัวอักษร ของป้ายทะเบียนรถหรือไม่ โดยระบบจะทำการเปรียบเทียบภาพป้ายฯที่บันทึกได้กับข้อมูลที่มีอยู่ อาทิ ยี่ห้อ รุ่น รวมถึงสีรถ หากพบว่าไม่ตรงกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะติดตามรถคันดังกล่าวมาตรวจสอบต่อไป
ดูเหมือนความก้าวหน้าของกล้องวงจรปิดนั้น ยากหยุดพัฒนา แม้เทคโนโลยีขั้นสูงของระบบกล้อง CCTV อาจส่งผลกระทบหรือก้าวล่วงเข้าไปในชีวิตประจำวันของหลายคน แต่การอาศัยบนโลกยุคใหม่ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินล้วนเป็นสิ่งต้องคำนึง ซึ่งกล้องวงจรปิดคือ หนึ่งในผู้แลมอง ปกป้อง และพิทักษ์สรรพสิ่งต่างๆในดาวน้อยดวงนี้