IP Camera อีกความก้าวหน้าของกล้องวงจรปิด

IP Camera อีกความก้าวหน้าของกล้องวงจรปิด

IP Camera อีกความก้าวหน้าของกล้องวงจรปิด

 

กล้องวงจรปิด (Closed Circuit TeleVision, CCTV) หรือ กล้องรักษาความปลอดภัย (Security Camera) ได้ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างความมั่นใจและช่วยป้องปรามอาชญากรรมต่างๆอย่างต่อเนื่อง รูปแบบของกล้อง CCTV ในยุคแรกๆ เป็นกล้อง Analog ที่ต้องเดินสายเคเบิลเชื่อมโยงอุปกรณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน แต่ในปัจจุบันซึ่งเทคโนโลยีเป็นที่มาของความก้าวหน้าในทุกอุตสาหกรรม ระบบกล้องวงจรปิดเพื่อรักษาความปลอดภัยก็เช่นกัน มันถูกพัฒนาและออกแบบให้ใช้งานโดยแทบไม่ต้องเดินสายมากมายให้ยุ่งยาก และดูไม่สบายตาเหมือนเมื่อกาลก่อน

 

กล้องวงจรปิดที่แทบไม่ต้องเดินสายเคเบิลนี้ ขอเพียงเข้าถึงอินเทอร์เน็ตหรือระบบเครือข่ายใดๆได้ ก็สามารถทำงานได้ จึงถูกเรียกว่า Internet Protocol Camera หรือ IP Camera หรือ Network Camera (กล้องเครือข่าย) การรับ/ส่งสัญญาณเป็นแบบดิจิตอล จัดเก็บข้อมูลแบบเครือข่าย คุณภาพจากกล้อง IP Camera ถูกพัฒนาให้ความละเอียดและคมชัดไม่แพ้กล้องใช้สายทั่วไป หรือบางรุ่นอาจโดดเด่นกว่า เราสามารถพบเห็นกล้องวงจรปิดแบบไร้สายได้ทั้งในบ้านเรือน ที่พักอาศัย โรงเรียน โรงงาน ร้านค้า และสถานที่อื่นอีกหลากหลาย ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงและการใช้อุปกรณ์ร่วมที่ลดลง อาทิ สายเคเบิลนำสัญญาณ ทำให้ IP Camera มีขนาดเล็ก เหมาะติดตั้งได้ในหลายพื้นที่ แม้แต่ภายในตัวตุ๊กตาหมี เพื่อเฝ้าดูแลเด็กเล็กในปกครอง การใช้งานกล้องวงจรปิดนี้ออกแนวอเนกประสงค์ ซึ่งรวมถึงการป้องปรามเหตุร้ายที่ไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้น อาทิ การโจรกรรม อุบัติเหตุ พฤติกรรมของบุคคลต่างๆ รวมถึงมีความสามารถทำงานกลางคืนหรือพื้นที่แสงน้อยมาก ด้วยระบบอินฟราเรดที่แทบเป็นมาตรฐานของกล้อง IP Camera ไปแล้ว

 

กล้องวงจรปิดแบบ Network Camera อยู่บนพื้นฐานของระบบเครือข่าย ดังนั้นมันจึงทำงานได้ทั้งแบบไร้สายและใช้สาย สามารถรองรับการทำงานร่วมกับสาย LAN หรือสาย UTP (อาทิ CAT5e, CAT6) ได้ทันที ความยาวของสายอาจได้ถึง 100 เมตร กล้อง Network บางตัวพร้อมรองรับเทคโนโลยี Power over Ethernet (PoE) ทำให้ตัวกล้องสามารถใช้ไฟฟ้าที่มากับสาย LAN ได้อัตโนมัติ โดยไม่ต้องเพิ่มจุดจ่ายไฟให้เฉพาะ วิธีตั้งค่าทำงานต่างๆก็ไม่ยุ่งยาก ด้วยการทำงานผ่านเครือข่ายแบบ Real Time, หากเลือกทำงานแบบไร้สาย กล้องวงจรปิดแบบ IP สามารถรับ/ส่งข้อมูลได้ทั้ง Wi-Fi (Wireless Fidelity, เครือข่ายอินเทอร์เน็ต/คอมพิวเตอร์แบบไร้สาย) ผ่าน Broadband Modem หรือ Router, เครือข่ายไร้สายต่างๆ รวมถึงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cellular Tower) ซึ่งกล้อง IP ส่วนใหญ่รองรับสัญญาณเซลลูลาร์ได้ แต่อาจมีค่าใช้จ่ายด้าน Air Time สูงกว่าวิธีการอื่น

 

กล้อง IP Camera ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สามารถให้ความละเอียดของภาพระดับ 4K หรือสูงถึง 12 ล้านพิกเซล (MegaPixel, MP) ซึ่งเป็นความละเอียดขั้นสูงของภาพในปัจจุบัน หากนำภาพที่ได้ในเบื้องต้นไปผ่านเทคโนโลยีสแกนภาพแต่ละเส้นแบบ Progressive Scan ก็ยิ่งทำให้ได้ความละเอียดของภาพสูงยิ่งขึ้นไปอีก ภาพจากกล้องวงจรปิดแบบ IP สามารถถูกบีบอัดได้หลายรูปแบบ รวมถึง H.264 การซูมภาพของกล้อง Network Camera เป็นแบบดิจิตอลซูม ซึ่งถูกพัฒนาขีดความสามารถจนอาจเรียกได้ว่า เหนือกว่าการซูมด้วยเลนส์ที่ยึดความโดดเด่นกว่ามาอย่างยาวนาน การซูมดิจิตอลที่สุดละเอียด สามารถช่วยวิเคราะห์ข้อมูลภาพที่บันทึกได้เป็นอย่างดี จำนวนพิกเซลในภาพยิ่งมาก ก็สามารถเข้าถึงรายละเอียดของภาพได้มาก (ก่อนภาพจะเริ่มแตก แหลก พัง เละ) ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับหลายความพยายาม อาทิ การอ่านป้ายทะเบียนรถยนต์ หรือการคัดเฟ้นใบหน้าผู้ต้องสงสัย

 

 

แม้ค่าใช้จ่ายของการเปลี่ยนจากระบบกล้องวงจรปิดเดิมที่มีอยู่ มาสู่ระบบ IP Camera ทั้งหมด หรือการเริ่มต้นจากกล้องเครือข่ายโดยตรง ดูเหมือนค่อนข้างสูงจนอาจส่ายหัว แต่ถ้ามองลึกในรายละเอียดแล้ว อาจเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า กล้อง IP Camera หนึ่งตัวสามารถใช้แทน Analog Camera ได้ราว 3-4 ตัว ทั้งยังทำงานได้มากกว่าหลายอุปกรณ์รวมกันในระบบกล้อง Analog ทำให้ค่าใช้จ่ายการบำรุงรักษาอาจลดลงตามได้ด้วย

 

/////

Similar Posts