กล้องวงจรปิด … กล้องไหนจริง กล้องไหนปลอม?
กล้องวงจรปิด … กล้องไหนจริง กล้องไหนปลอม?
กล้องรักษาความปลอดภัย (Security Camera) หรือที่เรียกกันว่า กล้องวงจรปิด ซึ่งมาจากภาษาอังกฤษ Closed Circuit TeleVision หรือเรียกกันอย่างย่อว่า CCTV หรืออาจเรียกในชื่อ กล้องตรวจตราและเฝ้าระวัง (Surveillance Camera) ก็จัดอยู่ในความหมายเดียวกัน กล้องวงจรปิดได้รับความสนใจทั่วโลก จนกลายเป็นหนึ่งทางเลือกของระบบความปลอดภัยในช่วงทศวรรษที่ผ่าน กล้อง ‘ตาวิเศษ’ ช่วยทั้งยับยั้งและบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ทั้งเหตุการณ์ทั่วไป การจราจร อาชญากรรม และอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม การวางระบบและติดตั้งกล้องรักษาความปลอดภัยยังมีราคาค่อนข้างแพงในมุมมองของหลายคน แม้โดยเฉลี่ยดูเหมือนราคาโดยรวมลดลงอย่างต่อเนื่อง หากงบประมาณมีจำกัดหรือต้องการประหยัดการลงทุน การติดตั้งกล้องวงจรปิดแบบเสมือนจริง (กล้องจำลอง กล้องปลอม กล้องหลอก หรือ กล้องวงจรปิดที่ไม่สามารถทำงานได้จริง, Dummy or Fake Security Camera) อาจเป็นทางเลือกเพื่อป้องปรามอาชญากรรมในพื้นที่ โดยอาจแทรก/เสริมเข้าไปในระบบกล้อง CCTV จริงๆ หรือใช้กล้องเสมือนจริงทั้งหมดก็เป็นได้
เราอาจสังเกต ‘เบื้องต้น’ ว่า กล้องวงจรปิดที่ผ่านพบเป็นกล้องจริงหรือเสมือนจริง อาทิ
๏ ตัวกล้องดูก๊องแก๊ง
สังเกตแรกเมื่อพบกล้องวงจรปิดเสมือนจริงก็คือ วัสดุที่ประกอบเป็นตัวกล้องดูเหมือนพลาสติกราคาถูก หากยก/จับขึ้นจะรู้สึกได้ทันทีว่า กล้องอะไรไหงเบาจัง เบาจนอาจรู้สึกเหมือนเป็นของเล่น ซึ่งผู้ผลิตกล้องวงจรปิดปลอมมักไม่สนใจคุณภาพและวัสดุผลิต เพราะผู้พร้อมกระทำผิดส่วนใหญ่คงไม่มีเวลา หรือมีโอกาสพิจารณากล้องวงจรปิดที่ติดตั้งไว้นั้น จริงหรือปลอม
แต่หากอยู่ในฐานะผู้ซื้อ หรือต้องการวางระบบรักษาความปลอดภัยด้วยกล้องวงจรปิดที่จริงจัง การตรวจสอบวัสดุตัวกล้องควรเป็นสิ่งแรกๆที่ต้องทำ กล้อง CCTV ที่ดีควรใช้วัสดุตัวกล้องที่ทนสภาวะแวดล้อม อายุการใช้งานนานยาว พร้อมปกป้องทุกส่วนประกอบที่อยู่ภายใน
๏ ไม่มีสายไฟหรือสายสัญญาณ
การไม่เห็นสายไฟหรือสายสัญญาณที่เชื่อมต่อกล้องวงจรปิดในปัจจุบัน อาจไม่สามารถบอกได้ในทันทีว่า กล้องตัวนั้นจริงหรือเพียงเสมือนจริง เนื่องจากเทคโนโลยีใหม่ๆทำให้กล้องวงจรปิดก้าวไกล กล้องบางรุ่นไม่ต้องใช้ทั้งสายไฟและสายสัญญาณ แต่พัฒนาการนี้เพียงเริ่มแพร่หลาย ยังอาจไม่ได้ติดตั้งใช้งานกันกว้างขวางมากนัก หากพบกล้องวงจรปิดที่ไม่ได้เชื่อมต่อกับสายเคเบิลใดๆ หรือเชื่อมต่อแต่ใช้สายเล็ก ขนาดไม่เหมาะสม ก็มีโอกาสที่กล้องนั้นอาจเป็นกล้องวงจรปิดปลอม
๏ ไม่มีชื่อหรือยี่ห้อ
กล้องวงจรปิดหรือกล้อง CCTV เพื่อรักษาความปลอดภัยจัดเป็นอุปกรณ์ทางเทคโนโลยี, ยี่ห้อ ชื่อ ตราสินค้า เครื่องหมายการค้า จึงเป็นสิ่งที่ผู้ผลิตมักนำเสนอให้เห็นอย่างเด่นชัด หากเป็นกล้องวงจรปิดที่ผลิตเพียงเพื่อหลอกผู้พบเห็น อาจไม่มีสัญลักษณ์ใดๆบนตัวกล้องเลย หรือหากมีก็อาจเป็นชื่อไม่คุ้น หรือแผลง แปลง ให้ผิดเพี้ยนจากผลิตภัณฑ์จริง โลโก้หรือตัวอักษรไม่คมชัดเจน ทั้งนี้อาจต้องพิจารณาบริบทอื่นประกอบด้วย
๏ ไฟแดงกะพริบ
หลายครั้งที่ปรากฏภาพกล้องวงจรปิดที่มีไฟกะพริบสีแดงในภาพยนตร์หรือสื่ออื่น ทั้งที่แทบไม่มีผู้ผลิตกล้อง CCTV รักษาความปลอดภัยรายใดใช้ไฟแดงกะพริบในผลิตภัณฑ์จริง ซึ่งอยู่บนหลักการกล้องวงจรปิดควรมีการอำพรางตัวเองในระดับหนึ่ง อาจมีเพียงกล้องวงจรปิดรุ่นเก่า ‘บางรุ่น’ เท่านั้น ที่มีไฟกะพริบสีแดงวับ/วาบ เตะตา น่าหันมอง
๏ กล้องเคลื่อนไหวเกินจำเป็น
กล้องวงจรปิดรักษาความปลอดภัยจริงที่มีระบบติดตามการเคลื่อนไหว มักทำงานผ่านเซ็นเซอร์ตรวจจับฯที่มีในตัว ซึ่งทำให้กล้องหมุนตามเมื่อตรวจจับความเคลื่อนไหวใดๆได้ ผู้ผลิตกล้องเสมือนจริงก็สามารถทำให้กล้องหมุนไป/มาในผลิตภัณฑ์ของตนได้เช่นกัน แต่เป็นการหมุนเกือบตลอดเวลา ไม่ได้หมุนเฉพาะเมื่อตรวจจับความเคลื่อนไหวได้เท่านั้น หากพบเห็นกล้อง CCTV ที่หมุนไปมา ไม่หยุด/ไม่พักในลักษณะนี้ ก็มีโอกาสไม่น้อยที่กล้องวงจรปิดนั้น อาจเป็นของปลอม
กล้องวงจรปิดเพื่อรักษาความปลอดภัยแบบเสมือนจริง อาจตอบโจทย์ด้านงบประมาณได้ระดับหนึ่ง อาจป้องปรามผู้พร้อมกระทำผิดให้หยุด หรือลังเลก่อนกระทำการ แต่คงไม่เพียงพอให้มั่นใจว่า ทรัพย์สินและครอบครัวไม่ตกอยู่ในอันตราย เนื่องจากไม่มีบันทึกหรือเบาะแสใดๆ หากเหตุการณ์ไม่ปรารถนาเกิดขึ้นกับสรรพสิ่งในปกครอง
/////