กล้องวงจรปิด จากก้าวนั้นถึงวันนี้
กล้องวงจรปิด จากก้าวนั้นถึงวันนี้
มากแหล่งแห่งหน หลากถนน หลายสถานที่ ทุกวันนี้มีประชากรแฝงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทว่าไม่ใช่มนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตใด ผู้แฝงกลุ่มใหญ่เหล่านั้นคือ กล้องวงจรปิด (Closed Circuit TeleVision, CCTV) หรือ กล้องตรวจตราและเฝ้าระวัง (Surveillance Camera) หรือ กล้องรักษาความปลอดภัย (Security Camera) หรืออาจเรียกกันสั้นๆว่า ‘กล้องวงจรฯ’ อันเป็นที่คุ้นหูและคู่ปากคนไทยมาหลายปี
กล้องวงจรปิดในปัจจุบันเป็นอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีอิเลคทรอนิกส์ที่ถูกกล่าวขวัญกันทั่วโลก ถนน หนทาง สถานที่ต่างๆ รวมถึงบ้านพักอาศัย เริ่มยอมรับเทคโนโลยี CCTV และติดตั้งอุปกรณ์ ‘ตาวิเศษ’ ผู้เฝ้าติดตามนี้อย่างแพร่หลาย ด้วยความคาดหวังประโยชน์จากการใช้งาน เพื่อเพิ่มความอุ่นใจในความปลอดภัยทั้งบุคคลและทรัพย์สิน
ระบบกล้องวงจรปิดในปัจจุบันแตกต่างจากรุ่นแรกก้าวอย่างมาก ก้าวแรกของเทคโนโลยี CCTV ที่พบการบันทึกเป็นเอกสาร เริ่มที่ประเทศเยอรมนี ราวปีค.ศ. 1942 (พ.ศ. 2485) โดยวิศวกรไฟฟ้า Walter Bruch[1] ชาวเยอรมัน ครั้งนั้นเขาออกแบบระบบเฝ้าติดตามจรวด V-2[2] แบบสดๆ (Live Monitoring) โดยอุปกรณ์หลักมีเพียงกล้องและจอภาพ ไม่มีการบันทึกภาพใดๆ กระทั่งค.ศ. 1949 เทคโนโลยีกล้องวงจรปิด CCTV ก็ถูกเปิดตัวในเชิงพาณิชย์ โดยบริษัท Vericon ซึ่งเป็นคู่สัญญากับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เป็นผู้โฆษณา ประชาสัมพันธ์ และนำเสนอระบบเฝ้าดูดังกล่าวสู่สาธารณะ
ต่อมา ระบบกล้องวงจรปิด CCTV จึงเริ่มมีพัฒนาการบันทึกภาพ โดยเป็นการบันทึกด้วยม้วนเทปแม่เหล็ก (Magnetic Reel Tape) แบบม้วนต่อม้วน (Reel to Reel Recording) แต่ก็เป็นเรื่องไม่สะดวกนักในเวลานั้น เนื่องจากยังไม่มีการเปลี่ยนม้วนเทปแบบอัตโนมัติ ผู้ดูแลระบบต้องเปลี่ยนม้วนเทปด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นกระบวนการที่ยุ่งยาก ขาดความน่าเชื่อถือ ทั้งค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง พัฒนาการบันทึกภาพจากกล้องวงจรปิดจึงยังไม่แพร่หลายหรือนิยมกันในระยะแรก
การพัฒนาครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ของกล้องวงจรปิด หรือ CCTV เกิดขึ้นราวช่วงทศวรรษ 1970 เมื่อมีการบันทึกภาพในรูปแบบวิดีโอเทป VCR หรือ Video Cassette Recorder ในช่วงทศวรรษ 1960 ซึ่งเป็นการบันทึกเต็มรูปแบบ ทั้งภาพและเสียงบนตลับเทปแม่เหล็ก ด้วยพัฒนาการอย่างรวดเร็วทำให้เทคโนโลยี VCR ถูกรวมเข้ากับระบบเฝ้าระวังหรือระบบโทรทัศน์วงจรปิด อย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน การเฝ้าหน้าจอระบบ CCTV แบบสดๆแทบกระพริบตาไม่ได้ จึงไม่จำเป็นสำหรับผู้ดูแลระบบฯอีกต่อไป เนื่องจากระบบบันทึกภาพ VCR สามารถตั้งค่าและปล่อยให้ทำงานเอง ข้อมูลที่บันทึกสามารถถูกเรียกตรวจสอบได้เมื่อผู้เกี่ยวข้องต้องการ ความสะดวกที่เพิ่มขึ้นอย่างมากเหล่านี้ ทำให้กล้องวงจรปิดได้รับความนิยมและแพร่หลายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในวงการธุรกิจ แต่อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าครั้งนั้นยังห่างไกลจากพัฒนาการในทุกวันนี้อย่างมากอยู่
เมื่อโลกไม่หยุดหมุน การพัฒนาและต่อยอดย่อมไม่หยุดยั้ง ก้าวถัดมาของกล้องวงจรปิดมาถึงราวช่วงทศวรรษ 1990 เมื่อ Multiplexing Technology เริ่มถูกใช้งานอย่างแพร่หลาย เทคโนโลยีนี้ช่วยให้สามารถรวมหลายสัญญาณอินพุท (Input) เข้าประมวลผลร่วมกัน ระบบกล้องวงจรปิดก็ใช้ก้าวย่างนี้ ด้วยการนำภาพจากกล้องวงจรปิดหลายตัวมาประมวลผล แล้วแสดงภาพบนหน้าจอเดียวกัน ซึ่งสามารถพบเห็นได้อย่างแพร่หลายในระบบกล้องวงจรฯทุกวันนี้
เมื่อยุคดิจิตอลมาถึง ระบบกล้อง CCTV ก็ไม่เหตุผลใดให้รอรี ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิตอลนำระบบกล้องรักษาความปลอดภัยด้วย ‘ตาวิเศษ’ ก้าวผ่านการบันทึกภาพ VCR ไปสู่การบันทึกภาพแบบดิจิตอล ด้วยเครื่อง DVR (Digital Video Recorder, สำหรับบันทึกภาพจากกล้องอนาล็อก) หรือเครื่อง NVR (Network Video Recorder, สำหรับบันทึกภาพจากกล้องดิจิตอล) ทำให้ระบบกล้องวงจรปิดใช้งานง่าย แพร่หลาย ทั้งความปลอดภัยของข้อมูลก็เพิ่มขึ้นตามกันไปด้วย และกล้องวงจรปิดก็ได้มาถึงยุคไร้สาย (IP, Internet Protocol) ในปัจจุบัน ทั้งยังพร้อมย่างเหยียบเข้าสู่ยุคปัญญาประดิษฐ์ (AI, Artificial Intelligence) อย่างเต็มตัวในไม่ช้า
ด้วยคุณสมบัติที่โดนใจ ใช้งานง่าย ได้ผลดี จึงไม่น่าแปลกใจที่ระบบกล้องวงจรปิด ถูกจัดเป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง สร้างความสนใจและต้องการใช้งานเพิ่มขึ้นทั่วโลก ซึ่งแน่นอนว่าเทคโนโลยี CCTV ปัจจุบันยังไม่ใช่ปลายยอดของพีรามิด แต่มาถึงระดับใดในโครงสร้างดังกล่าว คงไม่สามารถบอกได้ถูกต้องตรงเผง ตราบใดที่เทคโนโลยีไม่เหนื่อยพัฒนา ระบบกล้องวงจรปิดก็ไม่เหนื่อยก้าวตามเช่นกัน
/////
[1] Walter Bruch (2 มีนาคม 1908 – 5 พฤษภาคม 1990) วิศวกรไฟฟ้าชาวเยอรมัน เคยเป็นอาจารย์สอนพิเศษที่ Hannover Technical University และเคยได้รับรางวัล Werner von Siemens Ring ในปี 1975, Walter Bruch เป็นผู้บุกเบิกระบบโทรทัศน์เยอรมัน ผู้คิดค้นโทรทัศน์สีระบบ PAL รวมถึงระบบโทรทัศน์วงจรปิด (Closed Circuit TeleVision, CCTV)
[2] จรวด V-2 (Vergeltungswaffe 2) หรือ Aggregat-4 เป็นจรวดเชื้อเพลิงเหลวที่เยอรมันพัฒนาในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อขับดันขีปนาวุธพิสัยทำการไกลครั้งแรกของโลก, V-2 ประสบความสำเร็จในการทดสอบครั้งแรกเมื่อ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1942 จากแท่นปล่อยในเยอรมนี จรวด V-2 ถูกจัดเป็นต้นกำเนิดของจรวดสมัยใหม่