กล้องวงจรปิดกับ ‘ม่านตา’ น่ารู้

กล้องวงจรปิดกับ ‘ม่านตา’ น่ารู้

กล้องวงจรปิดกับ ‘ม่านตา’ น่ารู้

 

มนุษย์สามารถประดิษฐ์กล้องถ่ายรูปได้ เมื่อรู้จักและเข้าใจทฤษฎีของภาพและแสง บนหลักการแสงตกกระทบวัตถุแล้วสะท้อนออกมา  เป็นภาพ โดยกล้องถ่ายรูปมีเลนส์นูนเพื่อช่วยรวมแสงสะท้อนจากวัตถุก่อนเข้าถึงหน่วยรับภาพ แล้วนำภาพที่ได้ไปบันทึกไว้ในหน่วยความจำ ซึ่งครั้งอดีตบันทึกภาพไว้ในแผ่นฟิล์ม แต่ปัจจุบันการใช้แผ่นฟิล์มเริ่มเลือนหาย กลายเป็นหน่วยบันทึกภาพชนิดอื่น ตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและพัฒนาการ

 

กล้องถ่ายรูปและดวงตามนุษย์มีความเหมือนกันหลายส่วน ส่วนสำคัญหนึ่งทำหน้าที่ปรับปริมาณการรับแสง นั่นคือ ‘ม่านตา’ หรือ Iris ถ้าแสงจ้า ม่านตาจะหดตัวเพื่อลดการรับแสง แต่ถ้าแสงน้อย มืด สลัว ม่านตาจะขยายเพื่อเพิ่มการรับแสง หลักการนี้ถูกนำมาใช้ในกล้องถ่ายรูปทั่วไป รวมถึงกล้องวงจรปิด (Closed Circuit TeleVision Camera หรืออาจเรียก กล้องรักษาความปลอดภัย, กล้องตรวจตราและเฝ้าระวัง … Security Camera, Surveillance Camera)

 

ม่านตากล้อง คืออะไร

ม่านตากล้อง (อาจเรียก ‘ม่านแสง’ ก็ได้) เป็นส่วนหนึ่งของกล้อง ทั้งกล้องถ่ายรูปทั่วไป กล้องวงจรปิด และกล้องประเภทอื่น ม่านตาหรือม่านแสงกล้องทำหน้าที่ควบคุมปริมาณแสงผ่านเลนส์ ถ้าม่านแสงเปิดกว้างใหญ่ แสงก็ผ่านได้มาก ถ้าเปิดขนาดเล็ก แสงก็ผ่านได้น้อย เราอาจแบ่งม่านแสงกล้องออกเป็น 4 รูปแบบดังนี้

 

๏ ม่านแสงแบบคงที่ (Fixed Iris)

ม่านตากล้องหรือช่องรับแสงเข้าสู่ตัวกล้องแบบนี้ ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ มาอย่างไร/ใช้อย่างนั้น ม่านแสงกล้องแบบ Fixed Iris เหมาะสำหรับบันทึกภาพระดับแสงค่อนข้างคงที่ สภาพแสงสม่ำเสมอ ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก

 

๏ ม่านแสงแบบปรับได้โดยผู้ใช้ (Manual Iris)

ม่านตากล้องแบบแมนนวล สามารถถูกปรับระดับการเปิดให้กว้างหรือแคบตามสภาพแสง ผู้ใช้งานมักปรับระหว่างการติดตั้งกล้อง อาทิ ปรับแต่งก่อนติดตั้งกล้องวงจรปิดขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งเมื่อติดตั้งลงตัวเรียบร้อยแล้ว อาจไม่สะดวกปรับแต่งอีก ทั้งนี้ขึ้นกับพื้นที่ใช้งานของกล้องวงจรปิดนั้นๆ

 

๏ ม่านแสงแบบปรับอัตโนมัติ (Auto Iris)

ม่านแสง Auto Iris ทำงานด้วยมอเตอร์เล็กๆ ทำให้สามารถปรับช่องรับแสงตามสภาพแสงที่เปลี่ยนแปลงโดยอัตโนมัติ ม่านแสงของกล้องรูปแบบนี้ อาจแบ่งย่อยได้เป็น DC Drive Iris (ส่วนควบคุมมอเตอร์อยู่ในกล้อง) และ Video Drive Iris (ส่วนควบคุมอยู่ในตัวเลนส์)

 

ม่านแสงแบบปรับอัตโนมัติใช้เทคโนโลยีขั้นสูงกว่าม่านแสงแบบอื่น ทั้งกล้องถ่ายรูปและกล้องวงจรปิดที่มีม่านแสงอัตโนมัติมักมีราคาสูงกว่า แต่ก็เหมาะใช้งานในสถานที่แสงเปลี่ยนแปลงมากกว่า อาทิ กล้อง CCTV ที่ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ในพื้นที่แสงไม่นิ่ง มีการเปลี่ยนแปลง แสงไม่สม่ำเสมอ

 

๏ ม่านแสงแบบ P Iris

P หมายถึง Precise หรือ ความถูกต้อง แม่นยำ ม่านตากล้องรูปแบบนี้สามารถปรับช่องรับแสงอัตโนมัติ พร้อมซอฟต์แวร์ในตัวกล้องที่ช่วยประมวลผลให้ความคมชัดของภาพดีขึ้น กล้องที่มีม่านแสงแบบ P Iris มีราคาแพงกว่า แต่คุณภาพของภาพที่ได้ ก็โดดเด่นกว่ากล้องที่ใช้ม่านแสงรูปแบบอื่น

 

การเปิด/ปิดม่านแสงของกล้องวงจรปิดแบบ Auto Iris

กล้อง CCTV ที่ระบุว่ามี Auto Iris หมายถึงกล้องนั้นรองรับการใช้งานร่วมกับเลนส์แบบ Auto Iris โดยเลนส์ Auto Iris มี 2 แบบ คือ DC Drive และ Video Drive เลนส์ทั้ง 2 แบบ มีสายสัญญาณ 4 เส้น ต่อเข้ากับตัวกล้อง, เฉพาะกล้องที่มีหัวต่อ Auto Iris เท่านั้น จึงสามารถใช้งานกับเลนส์ Auto Iris ได้ กล้องวงจรปิดบางรุ่นรองรับเลนส์ Auto Iris ได้ทั้งแบบ DC Drive และ Video Drive โดยตัวกล้องมีปุ่มให้เลือกใช้งาน DC หรือ Video Drive

 

๏ ม่านแสงแบบไฟตรง (DC Drive Iris)

ตัวกล้องวงจรปิดมีวงจรจ่ายไฟฟ้ากระแสตรง (DC) ให้กับเลนส์ เพื่อให้มอเตอร์ขนาดเล็ก หรือ กัลวานอมิเตอร์ ทำงานโดยตรง (Galvanometer, หรืออาจเรียกอย่างอื่น แล้วแต่ผู้ผลิต) ทำให้ม่านแสง ‘เปิด’ หรือ ‘ปิด’ ตามการเปลี่ยนแปลงของแสง

 

๏ ม่านแสงแบบสัญญาณภาพ (Video Drive Iris)

ตัวกล้องวงจรปิดจ่ายไฟฟ้าให้กับเลนส์ในรูปแบบของสัญญาณภาพ โดยความเข้มของสัญญาณภาพแตกต่างกันตามการเปลี่ยนแปลงของแสง เลนส์ที่ใช้กับการจ่ายไฟแบบนี้ต้องมีแผงวงจร ทำหน้าที่เปลี่ยนความแตกต่างของสัญญาณภาพ ให้เป็นการเปลี่ยนแปลงทางไฟฟ้า เพื่อให้อุปกรณ์ซึ่งคล้ายกับมอเตอร์ขนาดเล็ก หรือ กัลวานอมิเตอร์ เปิดหรือปิดม่านรับแสง ตามการเปลี่ยนแปลงของแสง

 

การเลือกใช้เลนส์เปิด/ปิดม่านแสงแบบอัตโนมัติ ทั้ง DC Drive และ Video Drive ต้องศึกษาคู่มือของกล้องวงจรปิด ถ้าเลือกใช้ผิดประเภท เลนส์จะไม่ทำงานและอาจชำรุดได้ เลนส์บางรุ่น/บางผู้ผลิต สามารถใช้งานได้ทั้ง Auto-Iris และ Manual Iris ในเลนส์ตัวเดียวกัน บางรุ่นอาจมีสวิทช์ให้เลือกรูปแบบใช้งาน แต่บางรุ่นก็สามารถสั่งเปิดหรือปิดม่านแสง ในขณะที่ยังคงทำงานเป็น Auto Iris ได้ด้วย

/////

 

Similar Posts